ความฝันเล็ก ๆ ของคนธรรมดาบนเวที TEDxBangkok 2016 : เน้ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่

แชร์ไปยัง:

เรื่อง : ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
บรรณาธิการ : สปัญญา ศรีสุข

“For me, humanity is borderless.” ประโยคเด็ดของเน้ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่ ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ใช้เวลา 5 เดือนเดินทางเป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตรไปยัง 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประโยคนี้ยังคงดังก้องเพื่อร้องเตือนไม่ให้เราลืมความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

จากจุดเริ่มต้นที่อยากจะไปเยี่ยมเพื่อน สู่การเดินทางที่ทำให้เน้ตติ้งได้พบเจอกับมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้คนต่างชาติ ต่างถิ่น แม้จะอาศัยอยู่คนละเขตแดนประเทศ แต่หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ที่ถูกหยิบยื่นให้กันและกันไม่เคยหมดไปเลย ทำให้เน้ตติ้งได้บทสรุปที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า “ความเป็นมนุษย์ไม่มีพรมแดน ไม่ว่าจะเกิดเป็นคนชาติไหน พูดภาษาอะไร ผิวสีอะไร ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น”

การเดินทางของเน้ตติ้งไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ปัจจุบันเธอยังคงออกเดินทางเพื่อนำทักษะด้านภาษาที่เธอมีไปเชื่อมผู้คนจากประเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ระหว่างที่เธอกำลังเดินทางจากเชียงใหม่ไปลำพูน เราได้โทรศัพท์ไปถามไถ่และชวนเธอย้อนกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที TEDxBangkok 2016 แล้วมองไปข้างหน้าในสิ่งที่เธออยากเห็นสำหรับงานในปี 2017

TEDxBangkok : อยากให้อัปเดตชีวิตหน่อยว่าหลังจากจบ TEDxBangkok มา ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้ทำงานเป็นล่ามภาคสนาม เข้าไปในชุมชนแล้วแปลภาษาให้กับกลุ่ม NGO ที่ทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นเกษตรอินทรีย์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีหลากหลายประเทศในอาเซียน รวมถึงแคนาดา และภูฏาน

TEDxBangkok : ซึ่งมันเป็นงานที่ทำมาก่อนแล้วใช่ไหม
เป็นหนึ่งในงานที่ทำ นอกจากนี้ก็มีทำสารคดี จัดค่ายเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์แล้วก็ภาษาให้นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในประเทศอาเซียน โดยจัดที่บ้านกับฟาร์มที่จังหวัดอุบลราชธานี

fig 1 TEDxBangkok

TEDxBangkok : มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังจากได้ขึ้นไปพูดบน TEDxBangkokทอล์กได้เผยแพร่ออกไป
ก่อนขึ้นไปพูดเราก็ไม่ใช่คนดังอะไร เป็นคน Low profile พอได้ขึ้นไปพูดก็ยังเป็นคนธรรมดา แต่เหมือนเราพูดเสียงดังขึ้น มีคนมาพูดกับเราด้วยว่า “เฮ้ย อยากทำเหมือนพี่จัง” คือบางคนวางแผนเอาไว้ แต่ยังไม่ได้ทำสักที เขาก็ได้แรงบันดาลใจจากเรา

แล้วก็ได้ไปแชร์ประสบการณ์อยู่เรื่อย ๆ อย่างสิ้นเดือนมีนาก็จะไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่นั่นจะจัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ก็จะไปคุยในมุมของความเป็นมนุษย์แล้วก็เรื่องความไร้พรมแดน

TEDxBangkok : ในฐานะที่เรียกตัวเองว่า Mekong Nomad (นักเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในแถบประเทศลุ่มแม่น้ำโขง) ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มุมมองต่อการท่องเที่ยวและเดินทางเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ได้ตกผลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนชุดความรู้ค่อย ๆ ตกตะกอนลงมาเป็นชั้น ๆ แต่ก่อนก็เดินทางเพราะอยากเห็นเฉย ๆ ไปถ่ายสารคดีแล้วก็นำเรื่องราวของเพื่อนมาเล่า แต่ทำไปทำมา ก็ได้ซึมซับลึกขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องของความเป็นมนุษย์ และความไร้พรมแดน พอมาปีที่ 2 เราก็เริ่มคิดว่าสิ่งที่เราทำมันสำคัญนะ แต่ก่อนมันอาจจะสำคัญน้อย แต่เมื่อได้ออกสื่อ ก็เหมือนว่ามันสำคัญมากขึ้นไปอีก ถึงจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ แต่ก็ได้เติมเต็มตัวเรา ไม่ใช่แค่พูดเฉย ๆ แต่ได้ทำแล้ว แล้วยังได้ไปตอกย้ำความเชื่อของคนที่สนใจในเรื่องนี้อยู่แล้วด้วย

TEDxBangkok : คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเทรนด์การเดินทางที่เกิดขึ้นในช่วงนี้บ้าง
เท่าที่เห็นจากกระแสนะ คนเดินทางมันเยอะมาก หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กท่องเที่ยวเดินทางเยอะมาก เพจต่าง ๆ ก็มีกระแสเดินทางโคตรเยอะเลย แต่การเดินทางที่ต่อเนื่อง ยาว แล้วก็เรื่องการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เข้าใจเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง แล้วก็ในประเด็นของงานพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม ยังไม่ค่อยมี

TEDxBangkok : การเดินทางได้ให้อะไรกับตัวคุณบ้าง
การเดินทางทำให้เราตอบโจทย์ตัวเองได้ว่า “เฮ้ย เราอยากเล่าเรื่องพวกนี้แหละ” ให้คนอื่นฟังว่า เราเจอเพื่อน ๆ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมานะ ถึงแม้จะเป็นสารคดีเล็ก ๆ ที่เราทำลงในยูทูบ แต่มันก็ได้ทำและได้บอกกับคนในวงกว้าง แม้จะไม่ได้ออกทีวีในช่องใหญ่ ๆ เพราะส่วนมากงาน NGO จะเป็นช่องเล็ก ๆ แล้วก็ผลิตให้กันเองดู (หัวเราะ) แต่พอสารคดีเราออก แล้วได้พูดใน TEDx อีก ก็เหมือนเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงให้เราแล้วเราก็เหมือนตัวใหญ่ขึ้นอีกนิดนึง

fig 2 TEDxBangkok

TEDxBangkok : ขอย้อนกลับไปตอนที่มีคนชวนมาพูดบนเวที TEDx ตอนนั้นคิดอะไรบ้าง ลังเลบ้างหรือเปล่า
เรารู้ว่าเราเป็นคนตัวเล็ก ๆ แล้ว TEDx เป็นเวทีที่ใหญ่มาก แต่เราก็อยากลองท้าทายตัวเอง มันเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้พูดให้คนเป็นพันได้ยิน แล้วจะได้ลงออนไลน์ด้วย ก็เลยคิดว่าจะเอาทุกช่องทางในการพูดให้เสียงดังขึ้น (หัวเราะ) อย่างที่เกริ่นไปเนอะ เพราะคนทำงานเพื่อสังคมหรืองาน NGO มันวงแคบมาก ตอนทำแมกกาซีนสมัยที่ยังทำ NGO อยู่ ก็ได้แต่ไล่แจกให้คนกันเอง ก็เลยอยากขึ้นพูด เหมือนนักร้องที่พูดคำเดียวทุกคนก็ได้ยิน

TEDxBangkok : ในการทำงานกับ Curator ของ TEDxBangkok ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างกว่าจะออกมาเป็นทอล์กได้ เล่าในมุมของตัวเองให้ฟังหน่อย
เรามีข้อมูลของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานภาคสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเยอะมาก แล้วจะเล่ายังไงให้มันสั้นและกระชากใจคนฟัง อันนี้ยาก แล้วบางทีเราจะติดภาษา NGO (เช่น “การพัฒนาที่ยั่งยืน”) ซึ่งคนอาจจะไม่เข้าใจเลย บางทีพูดคำว่า ASEAN community ปุ๊ป เหมือนคน NGO เขียนงานวิชาการออกมา ทีม Curator ก็ต้องเข้ามาดูและช่วยกันพัฒนาหลายรอบมาก

แล้วยังต้องระวังเรื่องเซนซิทีฟ เราพูดเป็นภาษาอังกฤษ คนฟังก็เป็นเพื่อนในลุ่มน้ำโขง ก็ต้องระมัดระวัง ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็ไม่ง่ายค่ะ ซึ่งก็ได้เรียนรู้ตรงนี้เยอะเหมือนกัน

TEDxBangkok : ช่วยยกตัวอย่างเทคนิคที่ใช้ในทอล์กหน่อย
เล่าให้ง่าย ๆ และเห็นภาพ พยายามเชื่อมโยงเพื่อทำให้คนฟังมีอารมณ์ร่วม แล้วก็เปรียบเทียบระหว่าง ‘ภาพจำ’ กับ ‘ภาพจริง’ เช่น แรงงานพม่า เขาก็ไม่ได้เป็นแบบในภาพจำของเรายังมีดี ๆ ในแบบที่เราไปเจอมาอีกเยอะ

TEDxBangkok : ทำไมถึงเลือกพูดภาษาอีสานบนเวที
เราพยายามจะเอาความเป็นตัวเองที่มีความเป็นท้องถิ่นให้ไปอยู่ในทอล์ก ก็เลยใช้ภาษาอีสานมาสร้างสีสัน เพราะตัวเองก็มาจากบ้านนอก ญาติทางพ่อเป็นชาวเวียดนาม ญาติทางแม่เป็นชาวลาว รู้สึกว่าตรงนี้เชื่อมคนดูได้ เพราะคนฟังก็มีคนอีสานที่ทำงานในกรุงเทพฯ อยู่เยอะ อยากทำให้เป็นทอล์กธรรมดาที่เอาคนธรรมดาไปพูด คุณไม่ต้องเก่งมาก ๆ แล้วเอาอีโก้ไปข่มคนดู อยากให้รู้สึกว่าทอล์กของเราติดดิน ใสซื่อ ไม่เฟก พยายามเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่เป็นมากกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็น

แต่ก็มีคนมาคอมเมนต์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเราไม่รู้จักเค้าหรอก เข้ามาบอกว่า คุณไปเป็นตัวแทนของคนอีสานนะ น่าจะทำให้ดูดีขึ้น น่าจะแต่งชุดวัฒนธรรมไป ซึ่งมันไม่ใช่เรา

28647030773 9dcd8ddc4b k TEDxBangkok

TEDxBangkok : ถ้าให้เสนอไอเดียหรือ Speaker เข้ามา อยากจะเสนอไอเดียอะไรบ้าง
TEDxBangkok เหมือนตอบโจทย์คนเมืองและคนชนบทที่พลัดถิ่นไปอยู่ในเมือง เราก็เหมือนตัวแทนของคนกลุ่มนั้นที่มีโอกาสขึ้นไปพูด ก็เลยอินกับความพยายามยกความเป็นท้องถิ่นมาสู่ความเป็นเมืองในกรุงเทพฯ

อยากให้มี Speaker ที่เล่าถึงความเป็นท้องถิ่น ความสำคัญของท้องถิ่นในการที่จะเติมเต็มความเป็นเมือง ความเอื้อเฟื้อ ความเอื้ออาทร เกื้อกูลกัน ถ้ามีสาย Humanity สายเกษตร เช่น พูดถึงอาหารท้องถิ่นที่ไปตอบโจทย์คนในเมือง คือโอเคกับสายเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การเมืองนะ มันมีแน่นอนอยู่แล้ว รวมถึงคนที่มีโปรไฟล์ใหญ่ ๆ แต่ถ้าได้เอาเสียงคนเล็กคนน้อยขึ้นไปพูดบ้าง ก็จะดีมาก

TEDxBangkok : คิดว่า TEDxBangkok ให้อะไรแก่สังคม
เป็นแหล่งการศึกษาและช่องทางสำหรับการหาแรงบันดาลใจให้กับคนทุกช่วงชีวิต คนดูได้เข้าไปเอาไอเดีย เอาแรงบันดาลใจแบบเต็ม ๆ เลย แล้วก็เก็บไว้ดูทีหลังได้ มัน Timeless ดูได้ตลอด ถ้าขาดแรงใจในการทำงานและการใช้ชีวิตเมื่อไหร่ เข้าไปดูปุ๊ปคือได้เลย เหมือนเป็นสารานุกรม

ตอนนี้ หลาย ๆ มหาลัย อย่างม.อุบล มีหนังสือแบบเรียนภาษาอังกฤษ เขาก็เอา TEDx ไปอยู่ในแบบเรียน มันมีมานานแล้วแหละ แต่ว่าตอนที่เราเรียนมันยังไม่มา (หัวเราะ) เราจบที่คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบล ช่วงที่เราไปพูดที่ TEDx อาจารย์แต่ละท่านก็ตื่นเต้นมากเลย จากนั้นอาจารย์ก็ติดต่อไปให้พูดที่ม.อุบล แต่ว่ายังไม่มีโอกาสได้ไป

ดีใจที่เวทีใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ ไม่ได้ลืมประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับพยายามเอาไปเสริม เอาไปทำให้เกิดชุมชนจริงๆ ไม่ได้มีเฉพาะคนเมือง คนมีชื่อเสียง หรือคนที่เป็นตัวหลัก ๆ ของประเทศ พยายามเอาคนอย่างพี่ชิ ปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นคนชายขอบขึ้นไปพูด มันก็เลยมีความผสมผสานและลงตัว ซึ่งอันนี้มันเป็นชุมชนที่แท้จริง แล้วยังเป็นพื้นที่ที่ดีมากที่ให้คนขึ้นไปจุดประกายคนอื่น ๆ ในสังคม

เน้ตติ้งมองเห็นถึงความเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งคนตัวเล็กและคนตัวใหญ่

สิ่งสำคัญจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวทีและช่องทางสำหรับคนตัวใหญ่ที่ทุกคนพร้อมจะฟัง หากเป็นวิธีการที่ทำให้คนตัวเล็กได้มีที่ทางสำหรับการได้แชร์ไอเดียที่แม้ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หากแต่ควรค่าแก่การเผยแพร่ และนี่คือสิ่งที่ TEDxBangkok ตั้งใจให้เกิดขึ้นในปี 2017

ความฝันเล็ก ๆ ของผู้หญิงคนนี้ เป็นจริงขึ้นมาได้ และมีคนรู้จักมากขึ้นแล้ว ผ่านทอล์กนี้ Humanity is borderless | Jaruwan Supolrai | TEDxBangkok

และถ้าใครอยากสัมผัสเรื่องราวการเดินทางของเน้ตติ้งที่ไม่อาจบรรจุไว้ในทอล์กได้ทั้งหมด ตอนนี้สารคดีชุด Mekong Nomad ทั้ง 5 ตอนได้ถ่ายทำและตัดต่อเสร็จสิ้นแล้ว รับชมได้เลยที่ Mekong Nomad | Vietnam, Friendship from the North to the South (EP1)

ผู้เขียน: mountain

Read More